คุณต้องการอะไรในชีวิต
บทความโดย พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1
ในความวุ่นวายของชีวิตเมืองทุกวันนี้ “เรา” คนส่วนใหญ่ได้ใช้เวลา 1 วัน เท่าๆ กันไปกับอะไร เป็นคำถามที่น้อยคนหรือน้อยครั้งที่คนจะหยุึดคิด
ทำงาน กินข้าวเที่ยง ทำงาน กินข้าวเย็น ทำงานบ้าน เข้านอน ฝัน จนกระทั่งเสียงนาฬิกาปลุกดังอีกครั้งหนึ่ง วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า (คนหลายคน “ตาย” โดยไม่ทันรู้ตัว ไม่ทันเตรียมตัว ขณะกำลังวิ่งอยู่ในวงล้อของนาฬิกาปลุก คนอีกหลายคน “เสมือนตาย” เพราะไม่เคยไปถึงบ่อแห่งปัญญาได้ว่า “จริงๆ แล้วชีวิตเราต้องการสิ่งใดแน่)
ทางทฤษฎีแล้ว การกระทำทุกๆ อย่าง เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า “แรงจูงใจ” (Motivation) ในทฤษฎีต่างๆ ที่อธิบายเกี่ยวกับความต้องการ (Needs) นั้น พบว่าทฤษฎีที่โดดเด่นและสามารถประยุกต์ใช้ในวงการต่างๆ ได้ คือ ทฤษฎีของ Abraham Maslow (1908-1970)
Maslow ได้แบ่ง Needs ออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ความต้องการทางกายภาพและชีวภาพ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ความต้องการขั้นพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การนอน การมีเพศสัมพันธ์
ระดับที่ 2 ความต้องการความปลอดภัย คือ ความปลอดภัยจากอันตรายและความไม่แน่นอนทั้งหลาย การมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย มีรปภ. มีสัญญาณกันขโมย มีระบบนิรภัย กฎหมายข้อจำกัดต่างๆ เป็นการตอบสนองต่อความต้องการในระดับนี้
ระดับที่ 3 ความต้องการความรัก และการยอมรับจากผู้อื่น ทั้งจากครอบครัว เพื่อน คนรักหรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง เห็นได้ชัดว่าในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น มักใช้เวลาและพลังงานส่วนใหญ่ในการเติมเต็มความต้องการในระดับนี้ ทั้งจากปรากฏการณ์นี้ โรงแรมถูกจองเต็มในวันวาเลนไทน์ การใช้ของตามแฟชัน ตามเพื่อน ตามดารา หรือแม้กระทั่งเด็กแว๊นกับเด็กสก๊อย ล้วนอยู่ในการตอบสนองความต้องการในระดับนี้ทั้งสิ้น
ระดับที่ 4 ความต้องการที่จะภาคภูมิใจในตนเอง
- ภาษาชาวบ้้านก็คือ ความรู้สึกที่ว่าตัวเองก็ “ดี” อยู่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม
- นามธรรม เช่่น ความมีชื่อเสียง ความสำเร็จ ชัียชนะ มีเกียรติ
- รูปธรรม เช่น รูปร่าง หน้าตา เสื้อผ้าที่สวยงาม มีรถสปอร์ต มีบ้านที่สวยงาม เฟอร์นิเจอร์มีดีไซน์ มีแฟนหน้าตาดี มีกิ๊กที่รู้ใจ
ระดับที่ 5 ความต้องการที่จะบรรลุถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง
เป็นเรื่องของการเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง รู้จักตัวเองและยอมรับตัวเองได้อย่างสุดจิตสุดใจ เป็นเรื่องที่ไม่มีผู้อื่นมาเป็นปัจจัยหรือเป็นตัวแปร x ในสมการ ตัวอย่างเช่น
- ตระหนักรู้ตามความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเอง
- มองปัญหาเป็นสิ่งที่มีหนทางแก้ไข ไม่ใช่เป็นการตำหนิ-แก้ตัว
- มีึความสุข ความพึงพอใจได้แม้จะอยู่คนเดียว
- มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง ไม่ใช้สมองร่วมกับคนอื่น
- ยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น วัฒนธรรมอื่นได้
มีประชากรเพียง 2 เปอร์เซ็นต์บนโลกนี้เท่านั้น ที่พยายามจะบรรลุถึงขั้นที่ 5 นี้ เพราะเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากกว่า ต้องใช้ความพยายามมากกว่า เห็นผลช้า และที่เห็นไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน อวดชาวบ้านไม่ได้
การตอบสนองในระดับที่ 5 นั้น ทั้งไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก ผลแห่งความพึงพอใจที่ได้จะคงอยู่ระยะยาว เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมโดยรวมมาก ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเพราะไม่โลภ “พอใจ” เป็น และ “หยุด” เป็น
Credit:
ขอบคุณข้อมูลจาก ablehealth11.blogspot.com
Credit pic: healthspablog.org