headaches-children

ทำไมจึงชอบ “กัดเล็บ”

บทความโดย พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1

เด็กๆ หลายคนหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ เมื่อมองดูเล็บก็จะเห็นว่าสั้นกุดทุกๆ นิ้ว หรือบางคนก็สั้นกุดอยู่ไม่กี่นิ้ว บางคนไม่เพียงติดการกัดเล็บมือ แต่ยังลามไปถึงการกัดเล็บเท้าด้วย

 

การกัดเล็บ (Onychophagia or Nail Biting) หลายคนคิดว่าน่าจะหายไปในวัยเด็ก แต่ความจริงกลับพบว่ามีเด็กวัยรุ่นมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ติดนิสัยการกัดเล็บ ในขณะที่เด็กอายุ 7-10 ปี ติดการกัดเล็บ 30 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าทั่วโลกมีคนกัดเล็บมากถึง 600 ล้านคน

คนที่ชอบกัดเล็บส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ หรืออาจก่อให้เกิดความทุกข์ใจมากยิ่งขึ้น การกัดเล็บเป็นการทดแทนปัญหา โดยการก่อปัญหาอย่างอื่นเข้ามาแทนที่เดิม หลายๆ ครั้งคนที่ชอบกัดเล็บจะใช้ “การกัดเล็บ” เป็นการลดความตึงเครียด ที่อาจจะเกิดจากครอบครัว คนรัก เพื่อนๆ งาน หรือปัญหาจากทางโรงเรียน

นอกจากนั้น 99 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่กัดเล็บ จะเกิดขึ้นจากปัญหาทางอารมณ์เล็กน้อย เช่น เครียด หิว หรือเบื่อ หรือเป็นเพียงแค่อุปนิสัยชอบกัดเล็บ และมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นการแสดงถึงอาการที่เกิดจากปัญหาที่รบกวนจิตใจอย่างมาก

เด็กๆ ที่ชอบกัดเล็บอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความกังวล หรือภาพลักษณ์ของตัวเอง การกัดเล็บเล่นๆ บ่อยๆ สามารถพัฒนาจนกลายเป็นนิสัยติดการกัดเล็บ และจะส่งผลต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ รอบตัว หรืออาจถูกเพื่อนๆ ในโรงเรียนล้อได้ หลายๆ คนพยายามไม่กัดเล็บต่อหน้าคนอื่นเวลาที่รู้ตัว แต่ขนาดของเล็บที่เล็กผิดปกติจากเพื่อนๆ ก็ทำให้รู้สึกอาย และต้องคอยเอามือซ่อนอยู่ในกระเป๋าไม่ให้เพื่อนๆ เห็น

นอกจากการกัดเล็็บจะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางด้านจิตใจแล้ว การกัดเล็บยังทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ปากโดยตรง เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus ฯลฯ และบางรายอาจไม่เพียงกัดเล็บเท่านั้น แต่จะกัดลามไปถึงเยื่อบุเล็บและผิวหนังที่อยู่รอบๆ เล็บ ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เคลือบฟันสึกกร่อน ทำให้เกิดฟันผุได้ง่ายขึ้นด้วย

เพราะอะไรถึงชอบกัดเล็บ
การกัดเล็บ เป็นการแสดงออกถึงความเก็บกด มักเกิดจากความเครียดหรือความเศร้า บางคนกัดเล็บเพราะโดนคุณแม่ดุ พ่อกับแม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก ฯลฯ หรือเด็กบางคนกัดเล็บตอนที่คุณพ่อคุณแม่หย่าร้างกัน แต่เมื่อเด็กเริ่มปรับตัวได้ก็จะเลิกกัดเล็บไปเอง แต่บางคนก็ยังกัดอยู่เนื่องจากกัดบ่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นเพียงการแสดงความรู้สึก

รักษากันอย่างไร
การรักษา อาจเริ่มจากการแก้ไขสิ่งที่รบกวนจิตใจหรือก่อให้เกิดความเครียดก่อน เช่น ถ้าเด็กเริ่มกัดเล็บช่วงที่คุณพ่อคุณแม่มีน้องใหม่ อาจต้องหันมาดูแลเอาใจใส่เขาอย่างที่เคยทำมาก่อน หรืออาจตั้งบทบาทชัดเจน ให้เขาทำตัวเป็นพี่ ต้องดูแลน้อง ทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมและอยากช่วยดูแลน้อง แล้วเขาก็จะเลิกกัดเล็บไปเอง

แต่ถ้าเป็นเพราะเด็กขี้เหงา ก็ควรหากิจกรรมให้เขาทำ ให้เขาได้ออกไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะกับเพื่อนๆ ได้เล่นเกมต่างๆ ที่เป็นการฝึกสมอง และได้ออกกำลังกายไปในตัว ทำให้เขาได้ทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และได้ออกกำลังกาย

แต่ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการให้เขานั่งดูทีวี หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ทั้งวัน และไม่ควรสร้างความเครียดให้เด็กมากยิ่งขึ้นด้วยการลงโทษ หรือตักเตือนว่ากล่าวเวลาที่เห็นเขากัดเล็บ วิธีนี้อาจทำให้เขากัดเล็บมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลับหลังคุณพ่อคุณแม่

วิธีแก้ไขที่ถูกต้องอาจใช้วิธีสร้างแรงจูงใจ เช่น ถ้าวันนี้เขาไม่กัดเล็บเลย คุณพ่อคุณแม่อาจให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำอาหารที่เขาชอบให้ทาน หรือติดสติ๊กเกอร์เด็กดีไว้ที่เล็บ เวลาเขาเผลอจะกัดเขาก็จะเห็น แล้วนึกได้ว่าเขาเป็นเด็กดี เขาไม่กัดเล็บ

หรือถ้าลองแล้วไม่ได้ผล วิธีเหล่านี้ก็อาจช่วยได้
1. ใช้ที่ทาเล็บแบบรักษาคนกัดเล็บ ซึ่งเป็นสารที่ไม่มีอันตราย แต่รสชาติขมหรือกลิ่นแรงมาก
2. การจัดฟัน จะช่วยทำให้การกัดเล็บเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น
3. หางานอดิเรกให้ทำ เพื่อจะได้ไม่มีเวลาว่างกัดเล็บ
4. ทาเล็บด้วยสีสวยๆ เพระถ้ากัดแล้วจะดูไม่ดี และรู้สึกว่าจะมีสารพิษเข้าปาก

แต่ถ้าทำทุกวิธีแล้วยังไม่หาย ก็ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุ และอาจมีการใช้ยา ประกอบด้วย เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressant) หรือยาที่ช่วยลดความอยากกัดเล็บ เช่น Inositol

 

 

Credit:

ขอบคุณข้อมูลจาก ablehealth11.blogspot.com

Credit pic: healthspablog.org

ใส่ความเห็น