Teenagers-stronger-bones-a-few-kilos-more

มีก้อนที่เต้านม ทำอย่างไรดี

หญิงสาวที่อายุยังน้อย…วัย 10 กว่า หรือ 20 กว่าปี เมื่อพบก้อนที่เต้านม มักจะรู้สึกอายหมอ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี แต่ใจหนึ่งก็กลัวว่าจะเป็นมะเร็ง เพราะได้ยินเรื่องมะเร็งเต้านมบ่อยๆ ใช่ไหมคะ ถ้าอยากรู้ว่าก้อนเนื้อนี้อันตรายมากน้อยแค่ไหน และจะมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง ไปฟังคำตอบจากคุณหมอกันค่ะ

 

เนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา พบได้บ่อยในหญิงสาว
รศ.นพ. อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าจากข้อมูลทางสถิติ พบว่าก้อนเนื้อในเต้านมหญิงสาวส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา ซึ่งมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า ไฟโบรแอดิโนมา (Fibroadenoma) ลักษณะของก้อนที่พบมักจะเป็นก้อนเพียงก้อนเดียว (มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พบหลายก้อน)

ก้อนที่พบมักจะไม่เจ็บ ขอบเขตกลมเรียบคล้ายลูกชิ้น กลิ้งไปมาได้ การเปลี่ยนแปลงของก้อนมักจะเป็นไปอย่างช้าๆ คือ โตขึ้นเพียงเล็กน้อย แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายๆ เดือนก็ตาม พบได้ตั้งแต่ก้อนเล็กกว่า 1 เซนติเมตร จนถึงขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร

เป็นโรคอื่นได้หรือไม่
โรคอื่นๆ ที่พบในหญิงสาวแต่ไม่บ่อยเท่า ได้แก่ ซีสเต้านม (Fibrocystic Change) และมะเร็งเต้านม ซึ่งทั้ง 2 โรคจะมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากเนื้องอกธรรมดา คือ ซีสเต้านมมักจะโตขึ้นเมื่อใกล้รอบเดือน แต่จะเล็กลงหลังจากรอบเดือนมาแล้ว ขณะที่มะเร็งเต้านมจะโตขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาอันสั้น

จะพิสูจน์อย่างไร ว่าเป็นเนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้าย
การตรวจเพิ่มเติมที่จะช่วยในการยืนยันว่าเป็นเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ซึ่งจะเห็นเป็นลักษณะก้อนเนื้อที่มีขอบเขตชัดเจน และการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะนำเซลล์ไปตรวจ (Fine Needle Aspiration) ทั้งสองวิธีร่วมกับลักษณะอาการและการตรวจร่างกาย ก็จะบอกได้ค่อนข้างแน่นอนว่า ก้อนที่ตรวจพบเป็นเนื้องอกธรรมดา

รักษาอย่างไร
ก้อนเนื้องอกธรรมดาของเต้านมมักจะไม่หายเอง ดังนั้นจึงต้องผ่าตัดออก แพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าตัดออกตั้งแต่เมื่อก้อนนั้นยังไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะจะได้ไม่ต้องเกิดแผลจากการผ่าตัดขนาดใหญ่ มักจะใช้การผ่าตัดโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ การผ่าตัดนั้นไม่ใช่การผ่าตัดที่เร่งด่วน สามารถนัดวันเวลาที่แพทย์และผู้ป่วยมีความพร้อมได้

ในกรณีที่ก้อนนั้นมีขนาดใหญ่มาก อาจต้องผ่าตัดโดยการวางยาสลบ ในปัจจุบันมีเทคนิคที่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดาที่มีขนาดใหญ่ ให้มีแผลขนาดเล็กแค่ 2-3 เซนติเมตร

ผ่าตัดแล้วหายหรือไม่
ก้อนเนื้องอกเต้านม เมื่อผ่าตัดออกแล้วก้อนนั้นก็หายไป มีโอกาสที่จะเกิดโรคเป็นซ้ำที่เดิมหรือมีก้อนขึ้นที่อื่นอีกประมาณร้อยละ 5 ของผู้ที่เป็นเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา

จะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่
ยังไม่พบรายงานว่าหากทิ้งก้อนเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดาไว้จะกลายเป็นมะเร็ง แต่หากก้อนนี้พบในผู้สูงอายุอาจเป็นก้อนที่เป็นมะเร็งได้ ดังนั้น หากก้อนโตขึ้นควรได้รับการผ่าตัดออก หากยังไม่อยากผ่าตัดออก ควรมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้อนี้เป็นระยะๆ สาวๆ รู้อย่างนี้แล้ว รีบสำรวจตัวเองเป็นการด่วน จะได้หาทางป้องกันแต่เนิ่นๆ ค่ะ

ก้อนที่เต้านม ไม่เจ็บ ยิ่งน่ากลัว
สาเหตุที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เกี่ยวเนื่องกับโรคของเต้านมนั้น อันดับหนึ่ง ได้แก่ ก้อนที่เต้านม และรองลงมาคือ อาการเจ็บเต้านม ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม มักจะเริ่มสังเกตและคลำที่เต้านม ส่วนหนึ่งจะพบก้อนร่วมด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่พบก้อนหรือไม่แน่ใจ แต่มักจะลงเอยด้วยการพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งมักจะมาพบแพทย์ค่อนข้างเร็ว ผิดกับผู้ที่มีก้อนที่เต้านม คลำได้แต่ไม่รู้สึกเจ็บ มักจะปล่อยเอาไว้เพราะคิดว่าไม่เป็นไร

ในบรรดาก้อนที่พบที่เต้านมนั้น มีโรคกลุ่มหลักๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ ซีสเต้านม เนื้องอกเต้านม (ไม่ร้าย) และมะเร็งเต้านม ซีสที่เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน โตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังรอบเดือนมาแล้ว ส่นใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีซีสมักจะเจ็บที่ก้อน ซึ่งผิดกับกลุ่มเนื้องอกหรือมะเร็งซึ่งมักจะไม่ค่อยเจ็บ พบว่าร้อนละ 90 ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน ไม่มีอาการเจ็บ ผู้หญิงหลายๆ คนมีความเข้าใจผิด คิดว่าก้อนที่ไม่เจ็บคงไม่เป็นไร และปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่โตขึ้นมากแล้วจึงรู้สึกเจ็บได้

ในผู้หญิงที่พบก้อนที่เต้านมตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ในหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี หากพบก้อนที่เต้านม มีโอกาสจะเป็นมะเร็งเต้านมถึงร้อยละ 50

การพบก้อนที่เต้านมร่วมก้ีบการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหัวนม หรือมีเลือดออกที่หัวนม หรือมีก้อนที่รักแร้ เป็นอาการเบื้องต้นที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านมได้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ดังนั้น หากพบก้อนที่เต้านม ไม่ว่าก้อนนั้นจะเจ็บหรือไม่ก็ตาม ควรพบแพทย์ตรวจ ไม่ควรนิ่งนอนใจ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ablehealth11.blogspot.com

Credit pic: healthspablog.org

ใส่ความเห็น