Vitamins-Herbs-for-Circulation (1)

รู้จักเรื่องเครียดๆ ของความเครียด

บทความโดย นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล

เริ่มต้นปีใหม่ ยังมีเรื่องคาใจที่เกี่ยวกับบ้านเมืองของเราที่กำลังประสบปัญหารอบด้าน ทั้งภายในและภายนอกรวมถึงนอกภูมิภาคด้วย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระดับโลก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ที่สามารถเข้ามารุมเร้าจิตใจจนเกิดความเครียดขึ้น

 

คำว่า “เครียด” จึงเป็นคำที่ถึงแม้จะพูดกันอยู่แทบทุกวัน แต่ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาให้พูดบ่อยขึ้นและมีคนสนใจกันมากขึ้น เพราะส่งผลกระทบแทบจะทุกคนแล้ว หลายคนมักจะเข้าใจว่าความเครียดเป็นโรคอย่างหนึ่ง และบางที่ใช้คำว่า “โรคเครียด” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด เพราะความเครียดไม่ใช่โรค หากแต่ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ไม่จำเพาะของร่างกายต่อสิ่งใดๆ ที่มาเรียกร้องต่อมัน

ความเครียดเกิดจากอะไร
ความเครียดมาจากหลายแหล่ง ซึ่งอาจมาจากภายนอกหรือภายในร่างกายเองก็ได้ สิ่งที่สำคัญที่เป็นต้นตอของความเครียด ก็คือ การไม่สมหวังในสิ่งที่คาดหวังไว้ การมีชีวิตอยู่บนความหวัง (Epectation) จะทำให้ทุกข์ได้ง่ายกว่าการมีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง (Hopeful) ซึ่งประเด็นหลังมักจะไม่มีเงื่อนไขของการได้รับผลตอบแทนเท่ากับความคาดหวัง เมื่อเกิดปัญหาจากการที่ไม่สมหวังแล้ว ปฏิกิริยาของจิตใจคนเราก็จะนำไปสู่ความทุกข์ใจ (Suffering) ตามมาได้ จนอาจจะนำไปสู่ภาวะวิกฤติได้

ผลกระทบของความเครียด
ความเครียดไม่ใช่โรคภัยโดยตัวของมันเอง แต่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยได้มากมายหลายอย่าง ทั้งทางกายและทางจิต

เมื่อร่างกายเผชิญความเครียดจะมีปฏิกิริยาตอบสนองในด้านสรีรวิทยา และการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนและสารเคมีบางอย่าง ระยะสั้นก็คือ การเตรียมพร้อมเื่พื่อการต่อสู้หรือการหนีจากภยันตราย เป็นการรักษาตัวเพื่อความอยู่รอด หากเผชิญความเครียดที่รุนแรงหรือยาวนานเกินไปก็กลายเป็นโทษต่อร่างกายได้ เช่น อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ในที่สุด เนื่องจากทำให้เกิดความแปรปรวนของระบบสารสื่อประสาทในสมองได้ โรคทางกายที่สัมพันธ์กับความเครียดมีหลายโรค เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันเลือดสูง แผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้ใหญ่ ท้องร่วง หอบหืด คันตามผิวหนัง อาการปวดศีรษะ (ที่พบบ่อย คือ ไมเกรน) ฯลฯ

สำหรับโรคทางจิตเวชที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด เช่น โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า โรคจิต โรคอารมณ์แปรปรวน ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้ผู้ป่วยมักมีอาการเครียดร่วมด้วยเสมอ และความเครียดเองก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้หรือดีขึ้นแล้วอาจจะกลับมาป่วยใหม่ได้อย่างมาก

การจัดการกับความเครียด
มีวิธีจัดการกับความเครียดมากมาย ซึ่งมีทั้งง่าย ทั้งยาก หลากหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่มักเป็นวิธีที่เกิดจากการแก้ที่ปลายเหตุมากกว่า วิธีจัดการกับความเครียดที่ดีที่สุด คือ การค้นหาสาเหตุของความเครียดให้เจอว่าเกิดจากอะไรแน่ ส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาภายในจิตใจของคนคนนั้นเสียมากกว่า การไม่สามารถทำใจได้กับความสูญเสีย การไม่สามารถจัดการกับความอยากมีอยากได้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน

วิธีการที่น่าจะเป็นผลดีที่สุด คือ การตระหนักรู้และเข้าใจถึงต้นตอของปัญหา และการมีความยืดหยุ่นให้กับชีวิตบ้าง อย่าให้ชีวิตต้องมีความสุขเพราะตนเองมีความเพรียบพร้อม ถ้าไม่ได้ก็จะเครียด ถ้าคิดแค่นี้รับรองว่าคงต่อสู้กับกิเลสตัณหาของการเป็นมนุษย์ที่หาวันสิ้นสุดไม่ได้ พยายามให้เวลากับการดูแลสุขภาพของตนเองทั้งสุขภาพกายและใจ รวมทั้งแบ่งปันความสุข ความปรารถนาดีให้กับคนที่อยู่รอบข้างด้วย หัดเรียนรู้ว่าการแสวงหาความสุขมิใช่มาจากการได้เพียงอย่างเดียว การให้ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้มีความสุขได้รวดเร็วกว่า

ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตเราทุกคน ไม่มีใครหลีกหนีความเครียดไปได้ การปราศจากชีวิตเท่านั้นที่ทำให้หมดความเครียดลงได้ ในความเป็นจริงแล้ว ความเครียดเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนมีความกระตือรือร้น และทำให้โลกมีการพัฒนาต่อไป

เราคงต้องอยู่กับความเครียดต่อไป เหมือนอยู่กับเชื้อโรค เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ที่อยู่รอบๆ ตัวเราและในตัวเรา ส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่อเรา ยกเว้นบางครั้งบางคราที่เกิดการเสียสมดุลเท่านั้นเอง ที่ความเครียดทำให้เกิดโรคขึ้นมา

หากคุณเป็นคนหนึ่ง ที่มีความเครียดมากจนไม่สามารถจะปรับใจให้คิดในทางบวกได้ และส่งผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อสุขภาพจิตแล้ว ก็ควรหาทางมาปรึกษากับบุคลากรทางด้านการดูแลสุขภาพจิต ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยได้เป็นอย่างดี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ablehealth11.blogspot.com

Credit pic: healthspablog.org

ใส่ความเห็น