เทคโนโลยีเพิ่มความงาม แต่อันตรายถึงชีวิต

เทคโนโลยีเพิ่มความงาม แต่อันตรายถึงชีวิต (ไทยโพสต์)


เทคโนโลยีความงามนั้นเปรียบได้กับเหรียญที่มี “สองด้าน” คือมีทั้งด้านดีและด้านร้าย จากสารพิษปลิดชีวิตก็สามารถพัฒนาด้วยเทคโนโลยี ให้กลายมาเป็นสารที่เติมแต่งความงามให้กับคน แล้วทำไมสารมหัศจรรย์อย่าง “โบท็อกซ์” และ “ฟิลเลอร์” จะกลายเป็น “มฤตยูร้าย” คร่าชีวิตผู้ที่อยากสวยอยากงามกลับคืนบ้างไม่ได้

ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2554 ของสมาคมศิษย์เก่าสถาบันโรคผิวหนัง ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สโมสรกองทัพบก มีการจัดแถลงเผยแพร่ข้อมูลการเลือกวิธีการรักษาปัญหาผิวพรรณอย่างถูกต้องเหมาะสม และปลอดภัยแก่ประชาชน เนื่องจากปัจจุบันค่านิยมในการใช้โบท็อกซ์และฟิลเลอร์ เสริมความงามแก่ใบหน้าและเรือนร่างในสังคมไทย ทวีมากขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่

พล.ต.นพ.กฤษฎา ดวงอุไร ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่น่าวิตกในขณะนี้ก็คือ สังคมไทยมองแต่คุณประโยชน์ของเทคโนโลยีความงาม ส่วนผลเสียกลับไม่มีใครคิดพูดถึง โดยเฉพาะในส่วนของโบท็อกซ์และฟิลเลอร์ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากอยู่ในขณะนี้

โบทูลินั่ม ท็อกซิน หรือที่รู้จักกันในนามโบท็อกซ์นั้น เป็นสารสกัดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลอสตริเดียมโบทูลินั่ม ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลายความตึงตัว ผู้ที่นิยมความงามมักใช้ฉีดเพื่อลดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าและลำคอ บางส่วนก็ฉีดเพื่อให้หน้าเรียวตามกระแสแฟชั่นเกาหลี หรือใช้ฉีดเพื่อลดภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และรักแร้

“ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นด้านคุณประโยชน์ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าโบท็อกซ์นั้นมีอันตรายถึงชีวิต หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือผู้ให้บริการไม่มีความชำนาญพอ” พล.ต.นพ.กฤษฎากล่าว และแจงเพิ่มว่า เอฟเฟ็กต์ที่พบมากสำหรับโบท็อกซ์ก็คือฉีดแล้วหนังตาตก หางคิ้วชี้ขึ้น ระดับคิ้วไม่เท่ากัน หรือมุมปากเบี้ยว และด้วยความที่ฤทธิ์ของโบท็อกซ์นั้นอยู่ได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ราว ๆ 4 เดือน-1 ปี จึงจำเป็นต้องฉีดซ้ำอยู่เรื่อย ๆ

“ในระยะยาวสารโบท็อกซ์อาจทำให้กล้ามเนื้อที่รองรับการเคี้ยวและการสบฟันมีปัญหาได้ จากข้อมูลพบด้วยว่าผู้ที่ฉีดโบท็อกซ์ร้อยทั้งร้อยเกิดภาวะเคี้ยวยาก ขณะที่สหรัฐระบุวิธีการใช้โบท็อกซ์ไว้อย่างชัดเจนว่า อนุญาตให้ใช้เฉพาะการลดริ้วรอยบริเวณหน้าผากเท่านั้น ส่วนการนำมาใช้ให้หน้าเรียวเป็นการใช้แบบพลิกแพลง และไม่มีการรับรองผลว่าปลอดภัย ฉะนั้นผู้ที่คิดใช้ต้องตรองดูให้ดี เพราะการใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้ในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฤทธิ์โบท็อกซ์จะไปคลายกล้ามเนื้อหัวใจให้หยุดทำงาน ผมขอเสนอวิธีการง่าย ๆ ใครอยากมีรูปหน้าเรียวหรือเกิดการบานเหลี่ยมน้อยที่สุด ต้องหยุดพฤติกรรมการเคี้ยวของที่มีความหนืด เช่น ข้าวเหนียว หมากฝรั่ง” นายกสมาคมศิษย์เก่าสถาบันโรคผิวหนังระบุ

ด้านสารเติมเต็มอย่างฟิลเลอร์ก็มีอันตรายต่อชีวิตไม่ด้อยไปกว่ากัน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รอง ผอ.สถาบันโรคผิวหนังระบุว่า คนเราพออายุ 20 ปีขึ้นไป การสร้างคอลลาเจนของผิวจะลดลงแต่การทำลายยังมีอยู่ต่อไป ทำให้เกิดภาวะผิวเหี่ยวเป็นรอยย่น จึงมีการคิดค้นนำสารเติมเต็มจากภายนอกใส่เข้าไปแทน ซึ่งในปัจจุบันมีสารฟิลเลอร์อยู่ 3 แบบ คือ…

1.แบบชั่วคราว อายุการใช้งาน 4-6 เดือน มีความปลอดภัยสูงแต่มีราคาสูงเช่นกัน เพราะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติย่อยสลายเองได้
2.แบบกึ่งถาวร แบบนี้มีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี ความปลอดภัยอยู่ในระดับปานกลาง
3.แบบถาวร เช่น ซิลิโคน หรือพาราฟิน แบบนี้มักพบผลข้างเคียงระยะยาวเพราะฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป

“ใครที่คิดเสียเงินฉีดฟิลเลอร์เพื่อลดเลือนริ้วรอย ก็ขอให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าได้เลือกประเภทฟิลเลอร์และสถานที่เข้ารับบริการว่าปลอดภัย มีความเชี่ยวชาญ และสะอาดแล้วหรือไม่ เพราะความอยากสวยในราคาถูกเพียงชั่วครู่ อาจทำให้คุณเสียใจ กลายเป็นตัวตลก และเสียชีวิตในภายหลังได้” นพ.จินดากล่าว

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ถ้าเลือกชนิดของฟิลเลอร์ไม่ดี หรือผู้ให้บริการไม่มีความชำนาญพอ อาจทำให้ริ้วรอยที่มีอยู่เกิดปัญหาหนักขึ้นกว่าเดิม เบาะ ๆ คือ เป็นตุ่มแดงนูนปรากฏให้เห็นชัดเจน หากแทงเข็มฉีดตื้นเกิน หนักหน่อยก็จะเป็นเหมือนแผลคีลอยด์นูนขึ้นตามร่องริ้ว ซึ่งถ้าใช้ฟิลเลอร์ประเภทชั่วคราวก็สามารถเลือนหายได้เอง แต่หากเป็นฟิลเลอร์ประเภทถาวรก็จะเป็นแผลเป็นตลอดชีวิต หนักหน่อยเป็นกรณีการอักเสบใต้ผิวหนัง กลุ่มนี้ถ้าใช้ฟิลเลอร์ชนิดแข็งมากไปก็จะไปกดทับเส้นเลือด หรือถ้าเผลอฉีดเข้าไปในเส้นเลือดเลย จะทำให้ผิวบริเวณดังกล่าวขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงและกลายเป็นแผลเน่าในที่สุด แต่ที่ร้ายแรงสุดคือส่งผลต่อชีวิต เพราะทั้งการใช้สารโบท็อกซ์และฟิลเลอร์นั้น เป็นการนำสารสู่ร่างกายผ่านทางการฉีด ถ้าเข็มไม่สะอาด ระบบการให้บริการไม่สะอาด ก็อาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนทำให้ตายได้

“เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการเข้ารับบริการในสถานบริการที่ไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา ควรสอบถามข้อมูลให้กระจ่างทุกครั้งที่เข้ารับบริการ ควรรับบริการจากแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น และไม่ควรนำสารเสริมความงามไม่ว่าจะเป็นโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ หรือแม้แต่กูลต้าไธโอนมาฉีดให้กันเอง เนื่องจากมีอันตรายมากกว่าที่คิดไว้ โดยในส่วนของกลูต้าไธโอนนั้น หากฉีดบ่อยๆ ในระยะยาวอาจทำให้แก่เร็วมากขึ้น เพราะตัวสารจะเกิดปฏิกิริยากลายเป็นอนุมูลอิสระ แทนที่จะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระครับ” รอง ผอ.สภาบันโรคผิวหนังย้ำเตือนอีกครั้ง

 

 

ขอขอบคุณ เครดิตข้อมูลจาก

Kapook.com กระปุก Logo

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ใส่ความเห็น